LiteracyFight เก็บเงินให้มีใช้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตด้วยหลัก

“อยากมีเงินใช้ตลอดไป ก็ต้องมีวินัยในการออม”

ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการเก็บเงินให้ได้เยอะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีเงื่อนไขในชีวิตมากมายที่เราทำอย่างนั้นไม่ได้ รู้ไหมว่าคนไทยส่วนใหญ่มีเงินในบัญชีไม่ถึง 50,000 บาท ส่วนคนที่มีเงินเก็บเกิน 1 ล้านบาทก็มีไม่ถึง 1% ในประเทศไทยเลย เรื่องแบบนี้ไม่เกี่ยวกับความเก่งและความขยัน แต่สะท้อนว่าความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้มีอยู่จริง และคนส่วนใหญ่ก็ไม่เคยได้รับความรู้เรื่องความฉลาดทางการเงิน (Money Literacy)💡

☝🏻ยกตัวอย่างให้ฟัง สมมติว่าบอสทำงานได้เงินเดือน 30,000 บาท มีรายจ่ายประจำต้องเสียประมาณ 50% (ค่ารถ ค่าบ้าน ค่าให้พ่อแม่ หรืออื่นๆ ที่ต้องจ่ายทุกเดือน) อีก 15,000 ที่เหลือ บอสตัดสินใจจะเก็บเข้าธนาคารเดือนละ 5,000 บาท ส่วนก้อน 10,000 เอาไว้ใช้จ่ายทั่วไป ถ้าเหลือค่อยเอาเข้าบัญชีไปสะสม นั่นหมายถึงบอสจะมีเงินเก็บ 60,000 บาทต่อปี แต่ถ้าบังเอิญเกิดอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย หรือมีอุปกรณ์ในการทำงานเสีย บอสก็อาจจะไม่เหลือเงินเก็บในปีนั้นเลยก็ได้

จริงๆ ต้องบอกว่าบอสค่อนข้างเป็นคนมีวินัยในการใช้เงิน แต่อาจจะยังขาดหลักการเก็บเงิน ที่น่าจะช่วยให้เขาวางแผนการเงินได้เห็นภาพระยะยาวมากขึ้น ‘พีระมิดการเงิน’ นี้อาจจะช่วยให้คุณและบอสเก็บเงินได้อย่างเป็นระบบและป้องกันความเสี่ยงได้ดีขึ้นก็ได้

📍ขั้นที่1: โอนย้ายความเสี่ยง
อยู่ด้านล่างสุด เป็นรากฐานแห่งความมั่นคงและเป็นขั้นสำคัญที่จะช่วยพยุงให้เราไม่ล้ม เงินสดสำรองหมายถึงเงินที่เตรียมไว้เพื่อเหตุฉุกเฉิน เช่น ตกงาน เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆ โดยทั่วไปเราแนะนำให้มีประมาณ 3-6 เท่าของเงินเดือน แต่ในสภาวะวิกฤติอย่างนี้ การมีเงินสำรอง 12 เท่าของรายจ่ายต่อเดือนคือสิ่งที่ดีที่สุด

อีกส่วนที่สำคัญของขั้นที่ 1 คือประกัน หมายถึงประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันทรัพย์สินต่างๆ เป็นการใช้เงินของเราจำนวนหนึ่งโอนความเสี่ยงให้กับมือที่ 3 เช่น ซื้อประกันสุขภาพในราคา 20,000 บาทเพื่อคุ้มครองค่ารักษาในวงเงิน 1 ล้านบาท เวลาต้องเข้าโรงพยาบาลจริงๆ จะได้ไม่หมดตัว

ก่อนจะไปขั้นที่ 2 คุณอาจนั่งขำไหล่สั่น ส่ายหัวไปมา คิดว่าบอสจะเอาเงินจำนวนมากจากไหนมาสำรองไว้ แค่เก็บเฉยๆ ยังยากเลย นั่นหละมาถูกทางแล้ว บอสไม่ต้องหาเงินมาเก็บตรงชั้นนี้ในครั้งเดียว แต่ค่อยๆ เก็บโดยอาจวางแผนว่าซื้อประกันไว้สัก 1 กรมธรรม์ก่อน แล้วค่อยสะสมเงินสำรองต่อไปเรื่อยๆ อย่างน้อยถ้าป่วย เงินก็จะไม่หายวับไปกับตาไงหละ บอกแล้วว่าเป็นการวางแผนการเงินในระยะยาว

📍ขั้นที่2: เงินเพื่อการออมระยะสั้น 1-2 ปี
เพื่อความฝันเล็กๆ ที่อยากตอบแทนตัวเองสักครั้ง เช่น เก็บเงินไปเที่ยว เก็บเงินซื้อมือถือเครื่องใหม่ แนะนำว่าให้ฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป แต่ถ้าดีหน่อยก็หาอีกบัญชีแยกไว้เลย จะได้ไม่งงและเผลอใช้ไป

📍ขั้นที่3: เงินเพื่อการออมระยะกลาง 3-5 ปี
หาการลงทุนที่ให้ดอกเบี้ยมากกว่าฝากเงินไว้กับธนาคาร อาจเป็นการลงทุนระยะสั้นที่มีเวลาจำกัด เช่น สลากออมสิน กองทุมรวม ตราสารหนี้ หรือซื้อทรัพย์สินบางอย่างไว้ที่สามารถใช้ประโยชน์และแปลงเป็นเงินสดได้เมื่อจำเป็น เช่น รถยนต์ การลงทุนในช่วงนี้ต้องถามตัวเองให้มากๆ ว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน ถ้าอยู่ในระดับกลางๆ เน้นให้ได้ดอกมากกว่าฝากประจำสักหน่อยก็พอ เสี่ยงมากเกินไปเดี๋ยวทำให้ไม่มีสมาธิทำงาน

📍ขั้นที่4: เงินเก็บเพื่อการออมระยะยาว มากกว่า 5 ปี
“เก็บวันนี้ ใช้วันหน้า” คือคติของขั้นนี้เลย ไม่ได้ขู่นะ แต่ผู้สูงอายุบางคนยังต้องก้มหน้าก้มตาทำงานเพราะไม่มีเงินเก็บมากพอให้นอนใช้สบายๆ พอแก่ไปอยากมีก็ทำไม่ได้ ทั้งหมดเกิดจากการไม่ได้วางแผนการเงินในระยะยาว แน่นอนว่าการออมระยะยาวไม่ได้หมายถึงการเก็บเงินไว้นานๆ แต่คือการลงทุนที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เช่น ลงทุนในหุ้น ลงทุนในสินค้าพรีเมียมเพื่อเก็บไว้รีเซลล์ หรือซื้อคอนโดไว้ปล่อยเช่า ซึ่งทุกอย่างมีความเสี่ยง ข้อมูลและการศึกษาอย่างละเอียดเท่านั้นที่จะลดความเสี่ยงตรงนี้ลงได้

ถ้าพอมีเวลาอยากให้นั่งคุยกับตัวเองมากๆ หยิบกระดาษและปากกาขึ้นมาเขียนความสัมพันธ์ของเงินทั้ง 4 ขั้นนี้ให้เจอ ซึ่งแต่ละคนจะมีไม่เหมือนกัน แนะนำว่าให้หาแรงบันดาลใจในการเก็บเงิน เชื่อสิว่าคุณจะตั้งใจเขียนแผนนี้ขึ้นมาทันที🤓

💵สมมติบอสตั้งใจเก็บเงินไว้ 10 ปีแล้วตายก่อนที่จะได้ใช้ บอสจะมีเงินก้อนนึงไว้ให้พ่อแม่หรือลูกของตัวเองแน่นอนจากเงินเก็บ การลงทุนและประกันชีวิตที่ทำเอาไว้ บ้านกับรถก็ไม่ต้องผ่อนต่อเพราะทำประกันทรัพย์สินเอาไว้แล้วด้วย แม้ว่าบอสจะไม่ได้เหลือเงินไว้เยอะมาก แต่ก็ไม่ได้ทิ้งภาระไว้ให้คนข้างหลัง แค่นี้ก็ดีมากพอแล้วไหมที่บอสสามารถทำได้ จากแค่วางแผนการเงินให้กับตัวเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *